“…เมื่อพิจารณา Consortium Agreement ของ Gunkul Consortium ที่กำหนดว่าแต่งตั้งให้บริษัท Gunkul เป็น Project Leader (บริษัทผู้รับผิดชอบหลัก) ในการจัดการยื่นเอกสารเสนอราคาทั้งหมด และจัดทำสัญญาตลอดจนการจ่ายเงินให้ดำเนินการกับบริษัท Gunkul แต่เพียงผู้เดียว กอรปกับหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตามการประกวดราคาได้ยืนยันแล้วว่า บริษัท Gunkul เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ และหลักฐานในการประกวดราคาทางระบบจัดซื้อจัดจัดจ้าง e-GP ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท Gunkul เป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้า ดังนั้นเมื่อบริษัท Gunkul ไม่มีผลงานก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำตามที่เอกสาร TOR กำหนด Gunkul Consortium จึงมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตาม TOR จึงไม่ผ่านคุณสมบัติ…”
“ผู้ว่าการ กฟภ. ได้เห็นชอบยกเลิกประกวดราคา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 (3) และระเบียบกระทรวงการคลังฯข้อที่ 53 โดยเป็นการให้ความเห็นชอบยกเลิกประกวดราคาเพียงครั้งแรกครั้งเดียว และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยกเลิกประกาศประกวดราคาครั้งดังกล่าวไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ ขณะที่การยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 2 นั้นยกเลิกตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่หน่วยงานรัฐ หากการกำหนดขอบเขตงานไม่ถูกต้องให้หน่วยงานยกเลิก แล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง ดังนั้นการยกเลิกประกวดราคาตามโครงการทั้ง 2 ครั้ง เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ”
เป็นถ้อยความสำคัญในหนังสือของนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ทำหนังสือชี้แจงนายชยพล ธิติศักดิ์ ประธานกรรมการ กฟภ. ถึงกรณีการยกเลิกประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งที่ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการประกวดราคาไปแล้ว (อ่านประกอบ : ทำตามกฎหมาย! ผู้ว่า กฟภ.แจง ปธ.บอร์ดฯปมเลิกประกวดราคาสร้างเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.)
สำหรับเอกชนที่ยื่นเสนอราคาทั้งหมด 4 ราย ได้แก่
เอกชนรายที่ 1 : บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,229,971,077 บาท
เอกชนรายที่ 2 : Consortium ZTT (ประกอบด้วย บริษัท เจียงซู จงเทียน เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อาร์ เอส เอส ๒๐๑๖ จำกัด) เสนอราคา 1,234,947,600 บาท
เอกชนรายที่ 3 : Gunkul Consortium (ประกอบด้วย บริษัท พริสเมียน เพาเวอร์ลิ้งก์ จำกัด และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 1,668,282,582 บาท
เอกชนรายที่ 4 : บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,677,760,000 บาท
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจประเด็นชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดคำชี้แจงทั้งหมดของนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ถึงนายชยพล ธิติศักดิ์ ประธานกรรมการ กฟภ. มานำเสนอ ดังนี้
รายละเอียดการสังเกตการณ์
เหตุผลในการยกเลิกประกวดราคาทั้ง 2 ครั้งแตกต่างกัน โดยเหตุผลในการยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 2 มีประเด็นเดียวคือ การระบุเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาไม่ถูกต้องตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฯ กรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 30 ต.ค. 2562 ซึ่งแตกต่างจากเหตุผลเดิมในการยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 1 มี 2 ประเด็น คือ (1) Gunkul Consortium (เอกชนผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 จาก 4 ราย) มีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตามที่ TOR ผลทำให้คงเหลือผู้เสนอราคาที่ถูกต้องเพียงรายเดียว (2) แนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคาฯ ไม่สอดคล้องกับหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ กรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 30 ต.ค. 2562
คำชี้แจง
1.ผู้ว่า กฟภ.ได้เห็นชอบยกเลิกการประกวดราคา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 (3) และระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 53 ซึ่งเป็นการให้ความเห็นชอบยกเลิกประกวดราคาเพียงครั้งเดียว โดยหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการประกาศดังนี้
ประกาศ ณ วันที่ 26 ก.พ. 2563 ระบุเหตุผลว่า ยกเลิกเนื่องจากดำเนินการตามความเห็นชอบของผู้ว่าการ กฟภ. ลงวันที่ 19 ก.พ. 2563
ประกาศ ณ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 แจ้งเหตุผลเพิ่มเติม การยกเลิกประกวดราคา ระบุว่า ยกเลิกการประกวดราคาตามมาตรา 67 (3) ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่หน่วยงานรัฐ เป็นการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 53 ที่กำหนดว่า หากการกำหนดขอบเขตงานไม่ถูกต้องให้หน่วยงานรัฐยกเลิก แล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง
2.เนื่องจากประกาศยกเลิกประกวดราคา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ซึ่งมีผลเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ไมได้ระบุเหตุผลไว้ในคำสั่ง หรือเอกสารแนบท้ายคำสั่ง จึงเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสอง ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งทางปกครองที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่ง หรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 ผู้ว่าการ กฟภ. จึงอนุมัติให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการยกเลิกประกวดราคาจ้าง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 49 ประกอบกับมาตรา 50 และให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่จัดทำคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง และออกประกาศยกเลิกประกวดราคา โดยให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการประกาศ ดังนี้
ประกาศ ณ วันที่ 29 เม.ย. 2563 ระบุว่า เพิกถอนคำสั่งยกเลิกประกาศประกวดราคาที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีผลเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในคำสั่ง หรือเอกสารแนบท้ายคำสั่ง จึงเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสอง ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งทางปกครองที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่ง หรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่ง จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 50 ให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกประกาศประกวดราคา
ประกาศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563 ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้การดำเนินการจ้างเหมาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และกว้างขวาง จึงอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 53 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 (3) ให้ยกเลิกประกวดราคา
จากข้อ 1. และ 2. ข้างต้น พบว่าเหตุผลการยกเลิกประกวดราคาดังกล่าว เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 (3) และระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 53 เป็นเหตุผลเดียวกันมาตั้งแต่การประกาศ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.-30 เม.ย. 2563
ส่วนการพิจารณาในข้อที่ว่าการเสนอราคาของ Gunkul Consortium มีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตามที่ TOR ผลทำให้ยังคงเหลือผู้เสนอราคาที่ถูกต้องเพียงรายเดียวนั้น เนื่องจาก กฟภ. เห็นว่า Consortium Agreement ไม่ได้ระบุผู้รับผิดชอบหลักไว้ชัดเจน และไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการประกวดราคาฯ มีหนังสือสอบถามไปยัง Gunkul Consortium หรือมีหลักฐานเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงเห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาฯ ไม่ได้สอบถามเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาของผู้รับผิดชอบหลักตามที่กรมบัญชีกลางได้ให้ข้อแนะนำไว้
เมื่อ Consortium Agreement ไม่ได้ระบุผู้รับผิดชอบหลักไว้ชัดเจน จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมค้าทั้ง 2 ราย (กิจการร่วมค้า Gunkul Consortium มี 2 เอกชนร่วมกัน ได้แก่ Gunkul และ Prysmian) ให้มีคุณสมบัติเป็นไปตาม TOR ทั้งคู่ โดยเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร่วมค้า 2 รายแล้ว พบว่า มีเพียงบริษัท Prysmian มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดในเอกสารประกวดราคา ส่วนบริษัท Gunkul มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน คือไม่มีประสบการณ์ทำงานก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำตามที่เอกสารประกวดราคากำหนด จึงเห็นว่า Gunkul Consortium มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตาม TOR จึงไม่ผ่านคุณสมบัติ
ดังนั้นการประกวดราคาครั้งนี้มีผู้เสนอราคาไม่ถูกต้องตาม TOR รวม 3 ราย คงเหลือผู้เสนอราคามีคุณสมบัติถูกต้อง 1 ราย กรณีดังกล่าว กฟภ.เคยทำหนังสือชี้แจง ACT แล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม กฟภ. มิได้นำประเด็นการเสนอราคาของ Gunkul Consortium มีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตามที่ TOR มาใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกประกวดราคาแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากเหตุผลที่ระบุในประกาศยกเลิกประกวดราคาตามตารางข้างต้น
ทั้งนี้ในส่วนแนวทางการพิจารณาผู้รับผิดชอบหลักของกรมบัญชีกลาง ตามที่ กฟภ. เคยแจ้งว่ามีหนังสือ มท 5301.15/8760 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2563 ขอหารือกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับแนวทางในการพิจารณาการเป็นผู้รับผิดชอบหลักในกิจการร่วมค้า เพื่อ กฟภ. จะได้นำมาใช้เป็นแนวทางต่อไปนั้น ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลาง มีหนังสือลงวันที่ 5 พ.ค. 2563 แจ้งว่า กรณีการพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมค้ารายใดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในกิจการร่วมค้านั้น หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาจากข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าที่ได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้รับผิดชอบหลักจะต้องดำเนินการยื่นข้อเสนอ และหลักฐานในการประกวดราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) รวมทั้งสามารถใช้ผลงานก่อสร้างของผู้รับผิดชอบหลักรายเดียวเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าได้ กฟภ. ได้แจ้งหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทราบ และถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกันต่อไป
สำหรับกรณีนี้เมื่อพิจารณา Consortium Agreement ของ Gunkul Consortium ที่กำหนดว่าแต่งตั้งให้บริษัท Gunkul เป็น Project Leader (บริษัทผู้รับผิดชอบหลัก) ในการจัดการยื่นเอกสารเสนอราคาทั้งหมด และจัดทำสัญญาตลอดจนการจ่ายเงินให้ดำเนินการกับบริษัท Gunkul แต่เพียงผู้เดียว กอรปกับหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตามการประกวดราคาได้ยืนยันแล้วว่า บริษัท Gunkul เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ และหลักฐานในการประกวดราคาทางระบบจัดซื้อจัดจัดจ้าง e-GP ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท Gunkul เป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้า ดังนั้นเมื่อบริษัท Gunkul ไม่มีผลงานก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำตามที่เอกสาร TOR กำหนด Gunkul Consortium จึงมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตาม TOR จึงไม่ผ่านคุณสมบัติ
ทั้งหมดคือคำชี้แจงเงื่อนปมสำคัญคือ เหตุผลผู้ว่า กฟภ. จึงสั่งยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าวหลายครั้ง โดยยกถึงข้อกฎหมาย และการที่ Gunkul Consortium มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตาม TOR
ท้ายที่สุดบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอประธานกรรมการ กฟภ. และกรรมการ กฟภ. พิจารณากันอีกครั้ง!
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90003-isranews-41.html