เปิดเหตุผลคำชี้แจง ผู้ว่า กฟภ.ถึง ปธ.บอร์ดฯ ประเด็นยกเลิกประกวดราคาก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2.1 พันล้าน ยันทำ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ-ระเบียบกระทรวงการคลังฯ ‘Gunkul Consortium’ ผู้เสนอราคาไม่มีคุณสมบัติครบตาม TOR ทำไปเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
จากกรณีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท โดยพบว่ามีเงื่อนปมปัญหาการยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งที่ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการประกวดราคา ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การประกวดราคาโครงการดังกล่าวโปร่งใส ส่วนการสั่งยกเลิกประกวดราคา เป็นเพราะที่ผ่านมากรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเอกชนลำดับที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าการ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป (อ่านประกอบ : ชัดๆ ‘ข้อสังเกต ACT-คำชี้แจงกฟภ.’ ทำไมต้องสั่งยกเลิกประมูลเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.?)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่า กฟภ. ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงนายชยพล ธิติศักดิ์ ประธานกรรมการ กฟภ. สรุปสาระสำคัญได้ว่า ภายหลังผู้สังเกตการณ์ของ ACT ทำบันทึกเบื้องต้น (Notification Report) กรณีพบเหตุกังวลใจในการดำเนินการประกวดราคาดังกล่าวนั้น ขอชี้แจงว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาประกวดราคาพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดนั้น ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (ระเบียบกระทรวงคลังฯ) ให้เสนอผู้บริหารระดับสูงของรัฐเพื่อกลั่นกรองงาน ก่อนเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ ดังนั้นผู้ว่าการ กฟภ. จึงมีอำนาจพิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการ กฟภ. ขณะที่คณะผู้กลั่นกรองงานไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด
นายสมพงษ์ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาคณะผู้กลั่นกรองงานได้มีหนังสือชี้แจงข้อมูล และรายละเอียดทั้งหมดแก่ผู้ว่าการ กฟภ. หลายครั้ง นอกจากนี้ผู้ว่าการ กฟภ.มีหนังสือสอบถามคณะกรรมการพิจารณาประกวดราคาในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงประเด็นคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เสนอในรูปแบบกิจการร่วมค้าว่า คณะกรรมการพิจารณาประกวดราคาได้ให้ความหมายของคำว่าผู้รับผิดชอบหลักไว้อย่างไร เป็นไปตามหลักเกณฑ์กรมบัญชีกลางหรือไม่ และผู้รับผิดชอบหลักมีคุณสมบัติครบถ้วนตามขอบเขตของงาน (TOR) หรือไม่ กรณีนี้ผู้ว่าการ กฟภ. จึงพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่ได้รับจากคณะกรรมการประกวดราคาด้วยแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากเอกสารที่ปรากฏใน e-GP (ระบบจัดซื้อจัดจ้าง) และเอกสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ระเบียบกระทรวงการคลังฯ หนังสือกรมบัญชีกลาง เป็นต้น ซึ่งเป็นกฎหมาย และเอกสารราชการที่ใช้ในการอ้างอิงตามที่คณะผู้กลั่นกรองงานเสนอ
ส่วนประเด็นการยกเลิกการประกวดราคา 2 ครั้งแตกต่างกัน โดยการยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 2 มีประเด็นเดียวคือ การระบุเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาไม่ถูกต้องตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ กรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 30 ต.ค. 2562 แตกต่างจากเหตุผลการยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 1 ที่มี 2 ประเด็นคือ เอกชนลำดับที่ 3 (Gunkul Consortium) มีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตาม TOR และแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ไม่สอดคล้องกับหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ กรมบัญชีกลาง
นายสมพงษ์ ชี้แจงว่า ผู้ว่าการ กฟภ. ได้เห็นชอบยกเลิกประกวดราคา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 (3) และระเบียบกระทรวงการคลังฯข้อที่ 53 โดยเป็นการให้ความเห็นชอบยกเลิกประกวดราคาเพียงครั้งแรกครั้งเดียว และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยกเลิกประกาศประกวดราคาครั้งดังกล่าวไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ ขณะที่การยกเลิกประกวดราคาครั้งที่ 2 นั้นยกเลิกตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่หน่วยงานรัฐ หากการกำหนดขอบเขตงานไม่ถูกต้องให้หน่วยงานยกเลิก แล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง ดังนั้นการยกเลิกประกวดราคาตามโครงการทั้ง 2 ครั้ง เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนประเด็นการยกเลิกการประกวดราคาในส่วนคุณสมบัติของ Gunkul Consortium ไม่ตรงตาม TOR นั้น นายสมพงษ์ ระบุว่า Consortium Agreement ไม่ได้ระบุผู้รับผิดชอบหลักไว้ชัดเจน และไม่มีหลักฐานว่าคณะกรรมการประกวดราคาฯ ทำหนังสือสอบถาม Gunkul Consortium ในประเด็นผู้รับผิดชอบหลัก จึงเป็นการดำเนินการไม่สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาผู้รับผิดชอบตามที่กรมบัญชีกลางได้ให้ข้อแนะนำไว้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมค้าทั้ง 2 ราย (กิจการร่วมค้า Gunkul Consortium มี 2 ราย ได้แก่ Gunkul และ Prysmian) พบว่ามีแค่บริษัท Prysmian ที่มีคุณสมบัติ ส่วนบริษัท Gunkul คุณสมบัติไม่ครบถ้วน เพราะไม่เคยมีประสบการณ์งานก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำตาม TOR กำหนด จึงเห็นว่า Gunkul Consortium มีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง และเคยชี้แจงให้ ACT ทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม กฟภ. มิได้นำประเด็นการเสนอราคาของ Gunkul Consortium มีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตามที่ TOR มาใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกประกวดราคาแต่อย่างใด แต่การยกเลิกประกวดราคาเพื่อให้การดำเนินการจ้างเหมาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90000-isranews-198.html