“อนุทิน” เตรียมงบเงินกู้ 3 พันล้านบาท ผลักดันวัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ เดินหน้าวิจัยในคนเฟสแรก คาดอีก 9 เดือนเตรียมฉีดให้คนไทย หากทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดีไม่มีอุปสรรค พร้อมให้ความมั่นใจภาคเอกชนไทยสนับสนุนเต็มที่ ขณะที่ “ไบโอเนท-เอเชีย” รายงานผลวิจัยวัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ ในสัตว์ทดลองได้ผลดี เตรียมยื่นขอขั้นตอนเร่งด่วนวิจัยในมนุษย์เฟสแรกในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้
25 มิ.ย.63-กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ,รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหาร บ. ไบโอเนท-เอเชีย จก. เพื่อรับฟังความคืบหน้าการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ
นายอนุทิน เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ทางบ. ไบโอเนท-เอเชีย จก. ในฐานะภาคเอกชนไทย มีความคืบหน้าเรื่องการทดลองวัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ ผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันในหนูได้ พร้อมทั้งส่งผลเลือดหนูทดลองให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดสอบประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันโรค เพื่อเตรียมยื่นเรื่องพิจารณาความปลอดภัยในการขอวิจัยในคนอย่างเร่งด่วนในระยะที่หนึ่งต่อทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะข้ามการทดลองในสัตว์ระยะที่ 2 โดยทาง อย.จะพิจารณาเทียบความปลอดภัยจากงานวิจัยอ้างอิง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วบนพื้นฐานความปลอดภัยตามขั้นตอนที่กำหนด รวมทั้งการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน หากทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดีไม่มีอุปสรรค คาดว่าอีก 9 เดือนจากนี้ จะสามารถผลิตวัคซีนฉีดให้กับประชาชนไทยได้
“รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญและมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้ได้จัดสรรงบจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและร่วมค้นคว้าวิจัยวัคซีนโรคโควิด 19 กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน ให้สำเร็จให้ได้” นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ผู้บริหารทาง บ. ไบโอเนท-เอเชีย จก. กล่าวว่าทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญการผลิตวัคซีน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการวิจัยและผลิตวัคซีนหลายชนิดจนเป็นที่ยอมรับระดับโลก สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ ได้ร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยันว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด จะสามารถเริ่มการวิจัยในมนุษย์ระยะแรกได้ในช่วงปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือนสิส.ค.63 และจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ในเชิงอุตสาหกรรมได้ในราวต้นปี 2564