มจร. จัด หลักสูตร สนทนาหัวข้อ “สันติภาพในมุมมมองของศาสนา” ระดมตัวแทนจาก 5 ศาสนาในประเทศไทย พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์ฮินดู และ ศาสนาซิกซ์ โดยมี นักศึกษาระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก เข้าร่วมรับฟัง
วันที่ 21 ส.ค. 2565 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยนสันติสนทนาทางด้านวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “สันติภาพในมุมมมองของศาสนา” ศาสนาในประเทศไทย ที่ รัฐบาลรับรอง 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกซ์ โดยมีนิสิตระดับปริญญาโทระดับปริญญาเอก ของหลักสูตรสันติศึกษา มจร เข้าร่วมการฟังในครั้งนี้ด้วย ที่ห้องเรียนสันติศึกษา มจร.
ผู้แทนศาสนาฮินดูได้สะท้อนโดยมุ่งสอนขันติธรรมมีความอดทนไม่ใช้ความรุนแรง โดยยกมหาตมะคานธีเป็นต้นแบบในการใช้อหิงสา มองว่าศาสนาฮินดูให้อิสระทางความคิดมีสิทธิจะโต้แย้ง ศาสนาฮินดูจะไม่ยอมรับในเผด็จการทุกรูปแบบ โดยทุกศาสนามีจุดหมายเดียวกันแต่วิธีการต่างกัน ซึ่งประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นบางครั้งเกิดจากนักการเมือง แต่แท้จริงสันติภาพจะเกิดต้องเกิดจากนักการศาสนาเท่านั้น สีผิวเราต่างกันอาจเพราะภูมิศาสตร์ พันธุกรรม แต่สีเลือดเราเหมือนกัน จิตของเราเหมือนกันหมด แท้จริงเราเป็นหนึ่งเดียวกันครอบครัวเดียวกัน สิ่งที่เหมือนกันในทางศาสนาคือ ศีล เป็นเครื่องป้องกันความชั่ว สมาธิ ความมุ่งมั่น และปัญญา เกิดความเห็นจริง ทุกศาสนาจึงมองเหตุและผลจึงมองกฎแห่งกรรม ทำสิ่งใดจะสะท้อนสิ่งนั้น
ทางด้านศาสนาอิสลามสะท้อนว่า การนับถือศาสนาอิสลามจะไม่จำต้องเรียนเฉพาะในโรงเรียนอิสลามเท่านั้น แต่ต้องก้าวข้ามไปเรียนรู้ในศาสนาอื่นเพราะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ สร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งสันติภาพในมุมมองศาสนาจะต้องเริ่มจากความจริงใจต่อกัน แม้แต่การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเริ่มจากความจริงใจ การจะสร้างสันติภาพจะต้องเริ่มจากกัลยาณมิตร จึงย้ำว่ามิติทางการเมืองไม่สามารถทางสร้างสันติภาพได้ เพราะการเมืองมุ่งมิติเพียงผลประโยชน์เท่านั้น ผู้นำทางศาสนาต้องเข้ามามีบทบาทในการสันติสุข ผู้นำทางการเมืองจึงจริงใจ
ขณะตัวแทนศาสนาคริสต์ ระบุว่า สันติภาพเกิดจากกัลยาณมิตร “เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน” ภราดรภาพแห่งมนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ระหว่างศาสนาจะต้องมาสันติสนทนากันบ่อยๆ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา จะสร้างสันติภาพจะต้องมีความเป็นกัลยาณมิตรก่อน เพราะผู้ใดสร้างสันติย่อมเป็นสุข เราจึงต้องนักสร้างสะพานและนักรื้อกำแพง เพื่อเดินไปหากัน แต่เราต้องไปทความเข้าใจศาสนาของตนเองให้ลึกซึ้ง อย่าเป็นคนมั่วทางศาสนาคือไม่เข้าใจศาสนาตนเอง แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากคือ คนเริ่มไม่มีศาสนาเพราะไม่สามารถพบคำตอบ ศาสนาจึงต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งศัตรูของสันติภาพคืออคติต่อกัน จึงต้องกระทรวงระหว่างศาสนาในการหาคลื่นที่สื่อสารไปถึงกัน แต่โรคที่อันตรายที่สุดคือ โรคกลัว : Phobia กลัวซีโนโฟเบีย แปลว่าคนแปลกหน้า กลัวคนที่ต่างจากเรา ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ ต่างศาสนา แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะเคารพในฐานะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน จะเห็นพระเจ้าจะต้องมองเห็นเพื่อนมนุษย์ คือ ทุกคนในโลกใบนี้ รักจนไม่มีเงื่อนไขรักแม้ศัตรู
พระปราโมทย์ กล่าวว่า ผู้นำทุกศาสนาสร้างความหวังมาก แต่ปัจจุบันศาสนายังถูกอ้างเพื่อสร้างความขัดแย้ง ทุกศาสดาไม่ได้สอนเพื่อให้เกิดความรุนแรง แต่ปัจจุบันศาสนาถูกอ้างเพื่อทำให้เกิดความรุนแรงในนามศาสนา ผู้นำศาสนาจึงต้องคุยกันบ่อยๆ สื่อสารกันบ่อยๆ เพื่อบอกศาสนิกของตนเองว่า ” เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติมีอารยธรรมสำหรับบุคคลที่เจริญแล้ว “เราต้องมุ่งสันติภาพ เพราะสันติภาพ คือ ” สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง ” ในเชิงบวกคือ สภาวะที่มีความสามัคคี เสรีภาพและความยุติธรรม
การสันติสนทนาทางศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมีกติกาคือ การฟังด้วยหัวใจ เราต้องก้าวข้ามการโต้แย้ง หรือ ดีเบต พยายามเข้าใจทุกข์ของเพื่อนต่างศาสนาได้อย่างไร ? เพื่อรับรู้ความสึกของกันและกัน จึงเป็นการเสวนาเพื่อมุ่งสู่วิภัชชวาทคือ มองหลายมิติ ฟังคนที่มีความแตกต่าง มองแบบแยกแยะ ใช้โยนิมนสิการ ส่วนการมองแบบเอกังสวาทคือ การมองมิติเดียว มองมุมเดียว ไม่ฟังใครเลย การเรียนระดับปริญญาเอกจึงต้องเรียนแบบวิภัชชวาท เพื่อคิดวิเคราะห์
โลกนี้ต้องมีครบทุกศาสนามีศาสนาเดียวไม่ได้ โดยนักวิชาการศาสนาควรมีจุดยืนอย่างไรเพื่อความสันติสุข ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา มากกว่าสร้างขัดแย้งระหว่างศาสนา การสันติสนทนาก้าวข้ามอัตลักษณ์เพื่อลดความขัดแย้ง เวลามีความขัดแย้งทางศาสนาจะมีการโพสต์ในสื่อออนไลน์ คนไปตอบมักมิใช่นักวิชาการศาสนา นักวิชาการศาสนาควรมีท่าทีจุดยืนอย่างไร ? ในสังคมปัจจุบัน บุคคลต้นแบบในการสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาคือ หลวงพ่อพุทธทาส กล่าวว่า โลกนี้ต้องมีครบทุกศาสนา มีศาสนาเดียวในโลกไม่ได้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจกัน . นักวิชาการจะต้องกล้าแสดงออกจากจริยธรรมในโลกนี้มี 2 ประเภท คือ ” คนเก่งที่ชั่วๆ และดีที่โง่ๆ “เป้าหมายหลักของศาสนาต้องส่งเสริมศีลธรรม จึงเปรียบเทียบเหมือนลาที่แบกคัมภีร์แต่ไม่ได้ประโยชน์จากคัมภีร์ จึงต้องนำศาสนามาทำให้สังคมดีขึ้น ความกล้าหาญทางวิชาการมิใช่ขวานฝ่าซาก แต่นักวิชาการต้องนำกระบวนการที่นุ่มนวล ความดีกับความเก่งต้องเป็นหนึ่งเดียว การศึกษาศาสนาต้องไม่หัวขาด ต้องเก่งและต้องดี นักวิชาการศาสนาจึงโยงกับสถาบันที่ตนเองอยู่ จึงต้องกล้าเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ต่อไป.